อาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยโควิด พร้อมวิธี “กิน-บริหารร่างกาย-นอน” ต้านโรค อาหารผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยโควิด พร้อมวิธี “กิน-บริหารร่างกาย-นอน” ต้านโรค หลังสงกรานต์ประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากาก ร้อยละ 95 ล้างมือบ่อย ๆ ร้อยละ 90 เว้นระยะห่าง ร้อยละ 84 ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงร้อยละ 84 ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ร้อยละ 78 และสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในบ้าน ร้อยละ 72
“สำหรับประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติได้บางครั้ง ได้แก่ ไม่ได้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปที่สาธารณะ เนื่องจากหายใจค่อนข้างลำบาก อากาศร้อน และไม่ตรวจ ATK เพราะคิดว่าไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเมื่ออยู่ในบ้านไม่ได้สวมหน้ากาก เพราะไว้ใจคนในครอบครัว หายใจลำบาก หรือคนในบ้านติดเชื้อหมดแล้ว โดยหลังสงกรานต์ สิ่งที่ประชาชนเฝ้าระวังคือ สังเกตอาการตนเอง ร้อยละ 79.9 งดกินข้าวร่วมกับผู้อื่น ร้อยละ 38.7 และทำงานที่บ้าน ร้อยละ 18.1 จึงขอเน้นย้ำ ให้ประชาชนยังต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง โดยปฏิบัติตามหลัก Universal Prevention อย่างเคร่งครัด และสร้างภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติด้วยการกินที่ถูกหลักโภชนาการ และมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
การศึกษาวิจัยของทีมวิจัยจาก Harvard และ King’s College ติดตามกลุ่มประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จำนวน 592,571 คน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารที่มีผัก ผลไม้ ธัญพืช เป็นส่วนใหญ่ในมื้ออาหาร จะมีความเสี่ยงติดเชื้อลดลง ร้อยละ 9 และมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อลดลง ร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เน้นบริโภคอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีผักน้อย
และการศึกษาข้อมูลอาหารของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 568 ราย และกลุ่มควบคุม 2,316 ราย ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ที่มีกินอาหารที่มีพืชผักผลไม้เป็นหลัก มีความเสี่ยงที่จะมีอาการปานกลางถึงรุนแรงลดลง ร้อยละ 73 สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกปี 2563 ได้แนะนำให้กินอาหารที่หลากหลาย รวมทั้งผักและผลไม้สดทุกวัน ควรกินธัญพืชเต็มเมล็ด กินโปรตีนจากพืชและสัตว์ กินปลา ไข่ นม ลดการบริโภคเกลือหรือกินเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน โดยเลือกใช้เกลือไอโอดีน จำกัดการบริโภคน้ำตาล ของหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะน้ำตาลจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง โดยแนะนำให้กินไขมัน และน้ำมัน ในปริมาณปานกลาง เลือกแหล่งอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา ถั่ว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น เลี่ยงการกินอาหารแปรรูป หรือเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะจะมีปริมาณไขมัน และเกลือสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8-10 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาหารสำหรับผู้ป่วยติดโควิดหรือผู้ที่มีอาการลองโควิด
อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ปลา นม ไข่ ซึ่งปลามีโอเมก้า 3 จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ได้ และเน้นผัก ผลไม้ 400 กรัมต่อวัน
เลี่ยงอาหารแปรรูปต่าง ๆ
อาหารที่บำรุงปอด เช่น ขิง พริกหวาน แอปเปิ้ล ฟักทอง ขมิ้นชัน มะเขือเทศ ธัญพืช น้ำมันมะกอก หอยนางรม และเบอร์รี่
กินอาหารให้ถูกต้องตามธงโภชนาการ โดยกินผัก วันละ 4-6 ทัพพีต่อวัน ผลไม้วันละ 3-5 ส่วน
ตัวอย่างเมนูอาหารตามธงโภชนาการใน 1 วัน ประกอบด้วย
อาหารเช้า ข้าวกล้องต้มปลา
อาหารว่างเช้า นมรสจืด พร่องมันเนย
อาหารกลางวัน ราดหน้าทะเลใส่คะน้า
อาหารว่างบ่าย ขนมจีบหมู 2 ชิ้น แตงโมหั่นสามเหลี่ยม 2 ชิ้น
อาหารเย็น แกงส้มผักรวม และข้าวกล้อง
ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีกิจกรรมทางกาย อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน และสร้างกล้ามเนื้อ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเวทเทรนนิ่ง เช่น ยกน้ำหนัก ซิทอัพ ส่วนผู้สูงอายุให้ฝึกการทรงตัว เช่น การเต้นแอโรบิค รำไทชิ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรมีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
1) ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน
2) รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที
3) ไม่นอนในเวลากลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ควรเกิน 30 นาที
4) ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ก่อนนอน 2 ชั่วโมง ไม่ควรออกกําลังกาย
5) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และอาหารมื้อดึก อย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนนอน
6) งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนนอน
7) นอนเตียงนอนที่สบาย อากาศถ่ายเท ไม่มีแสงเล็ดลอด และเสียงรบกวน
8) ผ่อนคลายเพื่อลดความวิตกกังวล เช่น การนั่งสมาธิ
9) ใช้ห้องนอนเพื่อนอนเท่านั้น ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือกินอาหารบนเตียงนอน
10) หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง